J-doradic.com เว็บ ดิกไทย – ญี่ปุ่น ดิกญี่ปุ่น – ไทย ที่ดีที่สุด

เลือกหมวดหมู่
ความหมาย
จากหนังสือ ภาษาญี่ปุ่น 1 สนุก
 
 
                                                          ศ. ดร. ปรียา อิงคาภิรมย์  เขียน
 
           สวัสดีค่ะแฟนเจโดะระมังงะทุกคน ถ้าเห็นอันไหนน่าสนใจก็จะนำมาโพสให้อ่าน จะได้ความรู้กันอย่างกว้างขวางเพราะความรู้ไม่มีพรมแดน และเป็นของที่แบ่งปันกันได้นะคะ
 
          ใครที่สนใจอยากอ่านเรื่องอื่นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น สังคมญี่ปุ่น นวนิยายญี่ปุ่น วรรณกรรมญี่ปุ่นที่หาอ่านได้ยาก ตลอดจน ตำนานอาหารญี่ปุ่น หรืออยากเขียนถามคำถาม ข้อสงสัยอะไรก็ได้นะคะ ไม่ต้องเกรงใจ เชิญเข้าไปถามได้ตามสบายนะคะ
 
          วันนี้เอาเรื่องที่น่าสนใจใน ภาษาญี่ปุ่น 1 สนุก p. 188-90  เด็กวัดmaya อยากรู้ว่าใช้พูดทั้งประโยคไม่ได้หรือ ก็เลยต้องเอาเบื้องหน้าเบื้องหลัง ความคิดแบบญี่ปุ่นมาให้อ่านประกอบความเข้าใจ
 
           ใครที่สนใจ เชิญแวะชมโรงเรียนเด็กวัดปรียาได้ที่ http://japaneseisfun.com/bbs/index.php
 
        
        ตามที่เด็กวัด maya เขียนมาถามว่า ที่จริงประโยค doozo ocha o nonde kudasai โดโซะ โอะทซะ โอะ นนเดะ คุดะซะอิどうぞお茶を飲んでくださいเชิญดื่มน้ำชาประโยคนี้ถ้าจะพูดตามกฎเกณฑ์ และตามตำราเรียน การผันคำกริยา ก็ถูกต้องไม่มีอะไรผิด ทำไม เอาเข้าจริงๆ คนญี่ปุ่นไม่ใช้กัน ตามที่ มิซึตะนิ ในหนังสือชุด ภาษาญี่ปุ่น1 สนุก’ หน้า 188-190ให้คำอธิบายไว้ ในตัวอย่าง 
 
doozo ocha o nonde kudasai.
どうぞお茶を飲んでください
เชิญดื่มน้ำชา
 
ประโยคนี้ สุภาพ เพราะมีคำว่าdoozoどうぞแล้วก็มีรูปประโยคte kudasai ~て+ください ที่เราเรียนกันว่า‘กรุณา หรือ โปรด’
 
             ถ้าจะพูดไป คำพูดนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับ บทของละครฉากหนึ่ง ซึ่งฟังดูแล้ว เราก็คิดว่าน่าจะเป็นไปด้วยดีไม่ใช่หรือ แต่ผู้เขียน มิซึตะนิ ในหนังสือชุด ภาษาญี่ปุ่น สนุก’ กลับให้ความคิดเห็นว่า ถ้าผู้เรียนใช้รูปประโยคนี้ตลอดเวลา จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่า เป็นการใช้ภาษาแบบที่เรียนในห้องเรียน หรือไม่ก็เป็นการพูดที่จำเพาะเจาะจง หรือไม่ก็ก้าวร้าวเกินไป แถมให้ข้อคิดว่า ประโยคที่ถูกต้องตามไวยากรณ์นั้นไม่เสมอไปว่าจะเป็นประโยคที่ดีที่สุด
 
            จากตัวอย่างประโยคนี้ ทำให้เรารู้ว่า การเรียนภาษาญี่ปุ่นจากตำราเรียนอย่างเดียว ไม่อาจนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เสมอไป ตามที่อาจารย์เคยเขียนให้อ่านกันหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า ภาษาญี่ปุ่นจะติดเป็นโยงใยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบแยกแทบจะไม่ออก ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ค่อนข้างเด่นชัดของภาษาญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเราก็ไม่ใช่ว่าจะไม่กำกวมเลย ภาษาไทยเราก็กำกวม ไม่ชัดเจน และบางครั้งภาษาไทยของเราก็เช่นกัน ไม่ต้องพูดมาก เราก็เข้าใจและสื่อกันได้ถ้าเราเป็นคนไทย แต่คนต่างชาติก็คงจะงง สับสนว่าคนไทยอยากจะบอกอะไร เพราะไม่เข้าใจ สัญญาณของความหมายภาษาไทยที่คนไทยใช้ ในความคิดเห็นของอาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพียงแต่ว่า การทำวิจัยภาษาไทยที่สะท้อนสังคมวัฒนธรรมของไทย มีนักวิชาการและนักวิจัยสักกี่คนที่จะสนใจค้นคว้าหาคำตอบเหล่านี้
 
            สิ่งสำคัญในสังคมญี่ปุ่นที่ทุกคนปฎิเสธไม่ได้ก็คือ การที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับทุกสิ่งในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นไม่ว่าจะทำอะไร จะคิดอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องผสมผสานกลมกลืนเข้ากันได้อย่างดี มีสมดุลยภาพ ตามที่เรารู้ๆกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ภาษา หรือการแสดงออกของท่าทางก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญที่คนญี่ปุ่นจะต้องอ่านให้ออก และเข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการจะสื่ออะไร และถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนญี่ปุ่น จะต้องถือปฎิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สังคมเป็นไปด้วยดี เหมือนเครื่องจักรที่มีน้ำมันหล่อลื่น ไม่ใช่ฝืด กระตุก ทำเสียงดัง ก่อความรำคาญ หรือเครื่องจักรเดินๆหยุดๆ เป็นต้น
 
           เราทุกคนคงสงสัยว่า ทำไมภาษาญี่ปุ่นต้องยุ่งยากมากมายขนาดนั้น คำตอบก็คือ สิ่งที่เหล่านี้ที่กล่าวมา เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ คนญี่ปุ่นสามารถธำรงค์ไว้ซึ่งความเป็นญี่ปุ่น’
 
           ความปรองดอง และความมีสมดุยภาพที่ว่านี้ มีผลทำให้คนญี่ปุ่นสามารถ หลีกเลี่ยงการให้คำมั่นสัญญา การผูกมัดตัวเอง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือความรับผิดชอบใดๆที่อาจมีผลกระทบต่อคนในกลุ่ม เพราะสิ่งทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการที่ช่วยทำให้สังคมญี่ปุ่นสามารถที่จะอาศัยอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ ไม่มีความขัดแย้ง ประนีประนอม และกลมกลืนเข้ากันได้อย่างดี เหมือนดนตรีที่บรรเลงเข้ากับเสียงโน๊ตที่กำหนดไว้ จึงทำให้สังคมมีสมดุลยภาพ และความนึกคิดเหล่านี้เป็นความคิดแบบญี่ปุ่นที่เป็นมาช้านานในประวัติศาสตร์อันยาวนานของญี่ปุ่นตั้งแต่ในอดีต มาจนถึงปัจจุบัน หรือที่เรารู้จักกันดีว่า wa ความปรองดอง เข้ากันได้ดี หรือสมดุลยภาพ
    
          ทำไมคนญี่ปุ่นจึงเลือกใช้วิถึแนวความคิดในรูปแบบญี่ปุ่นนี้ มีอะไรที่เป็นจุดดี และมีอะไรที่เป็นจุดด้อยบ้าง ก่อนที่จะตอบคำตอบที่ว่านี้ ขอให้เราลองมองในอีกแง่มุมหนึ่ง เกี่ยวกับการเลือกแนวความคิดแบบญี่ปุ่นนี้ อย่างน้อย เราก็จะเห็นได้ชัดว่า วิถีแนวความคิดแบบญี่ปุ่นนี้ กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่น ตัดคนภาย หรือคนที่อยู่นอกกลุ่ม หรือคนที่ไม่ใช่ คนญี่ปุ่น ออกไปจากกรอบของคนญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง และอย่างง่ายดาย ด้วยการใช้กฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการใช้ คำพูดกำกวม ไม่ชัดเจน แต่สื่อสาร และเข้าใจกันได้อย่างดีในระหว่างคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง คนภายนอกจะเข้าไปร่วม หรือมีส่วนในการตัดสินใจ หรือเข้าใจแนวความคิดแบบญี่ปุ่น หรือที่เรารู้จักกันดีว่า วีถีชีวิตแบบญี่ปุ่น ในสังคมที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์เช่นสังคมญี่ปุ่นที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะสิ่งที่คนภายนอกจะเจอและขวางหน้าอยู่ก็คือ กำแพงวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนญี่ปุ่น และคนภายนอก กันขวางกั้นอยู่
 
         ในขณะที่ของไทยเรา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมานักวิชาการต่างชาติ เอมบรี เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า คนไทยในสายตาของเขาก็คือ ชนชาติที่ไม่ชอบมีกฎเกณฑ์ เดินข้ามถนน ตรงที่ไม่มีไฟแดง แม้แต่เวลาเดินตามถนนหนทางก็ยังไม่เดินไม่เป็นระเบียบ ไม่ชอบความยากลำบาก ชอบความง่ายๆ ชอบอะไรที่สบายๆ
      
         ดังนั้น เมื่อเที่ยบคนไทยกับคนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเอเชียเหมือนกัน ดูเผินๆ เราน่าจะเข้ากับคนญี่ปุ่นได้ดี และน่าจะใช้ภาษาญี่ปุ่นและเข้าใจได้ง่ายกว่าคนตะวันตก เพราะภาษาไทยเราก็กำกวม เพราะวันๆชอบความสนุกสนาน ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็ใช้คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ ถ้ามอง ในแง่นั้น ภาษาไทยเราก็กำกวมมากพอสมควร คือ ไม่มีกรอบหรือมาตราฐานอะไรที่จะวัดได้ในสายตาของคนต่างชาติ จึงผลก่อความอึดอัดให้คนต่างชาติที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากของไทยเรา เช่นเดียวกับที่ภาษาญี่ปุ่นสร้างความปวดหัวให้แก่คนไทยที่เรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะแนวความคิด การใช้ภาษาญี่ปุ่น แม้แต่โครงสร้างภาษาก็ยังต่างกัน
        
           คำถามที่อยากจะตั้งประเด็นก็คือ แล้วในสภาพความเป็นจริง คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ไม่สามารถที่จะสื่อคำพูดกันให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา และใช้สำนวนอ้อมค้อมแบบที่ว่านี้ตลอดหรือ แล้วสื่อกันรู้เรื่องจริงหรือ