J-doradic.com เว็บ ดิกไทย – ญี่ปุ่น ดิกญี่ปุ่น – ไทย ที่ดีที่สุด

เลือกหมวดหมู่
ความหมาย

รถไฟสายใหม่ “ ฟุคุโตะชิน ”

เรื่องโดย อัษฎายุทธ ชูศรี


ในปีหน้าชาว โตเกียวก็จะได้ขึ้นรถไฟใต้ดินขบวนใหม่เสียที เรื่องรถไฟซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญในสังคมเมืองนั้นเป็นสิ่งสำคัญครับ ประเทศญี่ปุ่นมีระบบรถไฟที่ดีมาก รถไฟที่วิ่งทั่วญี่ปุ่นนั้น เรียกกันว่า JR (เจอาร์) ย่อมาจาก “Japan Railway” ตามเขตเมืองใหญ่นั้นรถไฟที่วิ่งจะเป็นรถไฟฟ้า (電車: densha ) แต่ตามท้องถิ่นที่มีการใช้งานน้อย ก็จะเป็นรถไฟระบบเครื่องจักรเหมือนเมืองไทย

ในเมืองใหญ่ๆ จะมีรถไฟฟ้าอีกประเภท เรียกว่า 「私鉄」( shitetsu ) คือรถไฟฟ้าที่สร้างโดยเอกชนเจ้าอื่น ( แต่เดิมเจอาร์เคยเป็นของรัฐบาลแต่กิจการขาดทุนจึงเปลี่ยนเป็นเอกชนในภายหลัง แต่คำว่า shitetsu จะไม่รวมรถไฟเจอาร์ ) ส่วนใหญ่จะมีสถานีค่อนข้างถี่มากขึ้น และราคาถูก เขตเมืองไหนที่ประชากรเริ่มเบาบาง ก็จะมีข่าว shitetsu เลิกวิ่ง เหลือแต่รางรถไฟไว้เป็นอนุสรณ์ว่าที่นี่เคยมีประชากรมาก shitetsu ส่วนใหญ่จะเป็นรถไฟที่เชื่อมเมืองใหญ่กับเมืองข้าง ๆ แต่ถ้าเมืองใดมีขนาดใหญ่มากจึงจะมีระบบรถไฟใต้ดิน

รถไฟใต้ดิน (地下鉄: chikatetsu ) ของที่นี่ไม่ได้สร้างด้วยงบรัฐบาล แต่สร้างจากงบของท้องที่ซึ่งเขาจัดเก็บภาษีท้องที่กันเอง ใครอยู่โตเกียวอาจจะเจอเก็บแพงหน่อย แต่ยิ่งคนเยอะก็ยิ่งเก็บได้มาก แล้วค่ารถไฟใต้ดินก็จะถูก (ในโตเกียว ค่ารถไฟใต้ดินเริ่มต้นที่ 160 เยน ในขณะที่รถไฟใต้ดินเมืองอื่นเริ่มต้นราคาที่ 200 เยน)

ปัจจุบันมีเทศบาลนครที่สร้างรถไฟใต้ดินเพียง 9 เมือง คือ

  • โตเกียว (東京: toukyou )
  • โอซาก้า (大阪: oosaka )
  • นาโงย่า (名古屋: nagoya )
  • โยโกฮาม่า (横浜: yokohama )
  • ซัปโปโร (札幌: sapporo )
  • โกเบ (神戸: koube )
  • เกียวโต (京都: kyouto )
  • ฟุกุโอกะ (福岡: fukuoka )
  • เซ็นได (仙台: sendai )
คำว่า 「地下鉄」 แม้จะระบุว่า “ ใต้ดิน” แต่จริงๆ แล้วก็มีทั้งส่วนที่ก่อสร้างบนผิวดินด้วย จึงเหมือนเป็นยี่ห้อของรถไฟฟ้าที่วิ่งเชื่อมย่านแต่ละแห่งในเมืองใหญ่ มากกว่า

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ละเมืองในญี่ปุ่นจะคึกคักเรื่องรถไฟใต้ดินมาก อย่างในปีที่แล้ว ชาวนาโงย่าพึ่งจะได้นั่งรถไฟใต้ดินสายใหม่ที่วิ่งเป็นวงแหวนรอบนอกรอบเมือง (มหานครขนาดใหญ่ที่นี่จะสร้างรถไฟสายวงแหวนวนรอบเขตเมืองชั้นใน เพื่อระบายระบบรถไฟออกไปนอกเมือง อย่างโตเกียวจะมีรถไฟ JR สาย 「山手線」( yamanote-sen ) และรถไฟใต้ดินสาย 「大江戸線」( ooedo-sen ) วิ่งเป็นวงแหวนซ้อนกัน และโอซาก้าจะมีรถไฟ JR สาย 「環状線」( kanjou-sen ) วิ่งวน) ทางฝั่งโอซาก้าก็ไม่น้อยหน้า มีการสร้างรถไฟใต้ดินวิ่งทางฝั่งตะวันออกของเมืองเพิ่ม


รถไฟ JR 山手線 ( yamanote-sen ) วิ่งเป็นวงแหวนรอบเมืองโตเกียว

ย้อนกลับมาทางโตเกียว นอกจากรถไฟ JR และรถไฟของเอกชนแล้ว จะมีรถไฟใต้ดินทั้งสิ้น 12 สายเชื่อมเมืองทุกทิศเข้าหากัน บริหารงานโดย Tokyo Metro บริษัทบริหารรถไฟใต้ดินจำนวน 8 สาย ได้แก่

  • 「銀座線」( ginza-sen ) สีส้ม ( Orange )
  • 「丸の内線」( marunouchi-sen ) สีแดง ( Red )
  • 「有楽町線」( yuurakuchou-sen ) สีทอง ( Gold )
  • 「東西線」( touzai-sen ) สีฟ้า ( Sky )
  • 「南北線」( namboku-sen ) สีเขียวมรกต ( Emerald )
  • 「千代田線」( chiyoda-sen ) สีเขียวแก่ ( Green )
  • 「日比谷線」( hibiya-sen ) สีเงิน ( Silver )
  • 「半蔵門線」( hanzoumon-sen ) สีม่วง ( Purple )
และที่บริหารงานโดย Toei ที่เทศบาลนครโตเกียวบริหารโดยตรงอีก 4 สาย (เชื่อมตัวเมืองรอบนอกๆ เป็นหลัก) ได้แก่
  • 「浅草線」( asakusa-sen ) สีชมพู ( Rose )
  • 「新宿線」( shinjuku-sen ) สีเขียวอ่อน ( Leaf )
  • 「三田線」( mita-sen ) สีน้ำเงิน ( Blue )
  • 「大江戸線」( ooedo-sen ) สีม่วงแดง ( Ruby )

รถไฟของ Tokyo Metro สายกินซ่าเป็นรถไฟใต้ดินสายแรกของโตเกียว รถไฟของ Tokyo Metro จะวิ่งวนไปมาในเมือง มีสถานีเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย ย่านไหนที่มีคนมาก อย่างกินซ่าก็สามารถจะเลือกสายรถไฟได้มาก ส่วนรถไฟของ Toei จะวิ่งในลักษณะผ่าเมืองและเชื่อมท้องถิ่นที่มีประชากรเบาบางกว่าหน่อย ด้วยเหตุนี้จำนวนรถไฟของ Toei ก็จะน้อยกว่า Tokyo Metro และราคาค่ารถไฟก็แพงกว่านิดหน่อยคือเริ่มต้นที่ 170 เยน ถึงแม้ทั้งสองบริษัทจะแยกกันบริหาร เช่นหากจะนั่ง Tokyo Metro ไปลงสถานีของรถไฟสาย Toei ก็ต้องเสียเงินสองต่อ แต่ราคาก็จะถูกมากกว่า การนั่งรถไฟสองต่อกับรถไฟเอกชนอื่นๆ คือ จะเสียเงินเพียง 100 เยนให้บริษัทรถไฟที่เริ่มขึ้น และจ่ายตามระยะทางให้บริษัทรถไฟที่เป็นเจ้าของสถานีโดยคิดจากจุดที่เปลี่ยน รถไฟ (乗り換え: norikae )


สำหรับคนไทยที่อยากประหยัดค่าเดินทางก็ต้องคิดหน่อยว่าเส้นทางใดจะคุ้ม คนไหนที่เข้าๆ ออกๆ รถไฟทั้งวัน ก็มีบัตรแบบคิดเหมา (นั่งเฉพาะ Tokyo Metro ราคา 710 เยน และนั่งเฉพาะ Toei ราคา 700 เยน) นั่งได้ตลอดวันของแต่ละบริษัท แต่หากจะเพิ่มขอบเขตให้ข้ามไปมาระหว่างสายรถไฟของ Toei และสายรถไฟของ Tokyo Metro ก็ต้องซื้อบัตรราคา 1000 เยน


ในปีหน้ารถไฟสายที่ 13 สายสีน้ำตาล ( Brown ) ก็จะเปิดให้บริการ รถไฟใต้ดินดังกล่าวเป็นของ Tokyo Metro พึ่งจะกำหนดชื่อสายว่า 「副都心線」( fukutoshin-sen ) ซึ่งหมายถึงชานเมืองชั้นใน ( คำว่า 「都心」( toshin ) หมายถึงใจกลางเมือง ส่วน 「副」( fuku ) หมายถึง ระดับรอง ในที่นี้จึงหมายถึงชานเมืองชั้นในที่เชื่อมระหว่างเขตชานเมืองกับเขตในเมือง )

ชื่อนี้เหมาะกับรถไฟสายนี้ดีเพราะรถไฟสายนี้วิ่งใต้ถนนเมจิ (明治通り: meiji-doori ) ซึ่งเป็นถนนที่วิ่งเชื่อมอิเคบุคุโระ ชินจุกุ ฮาราจุกุและชิบุยะ ย่านการค้าใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของโตเกียว ย่านทั้งสามนี้ในสมัยเมจิเป็นเขตเมืองใหม่ที่พวกพนักงานบริษัท พนักงานธนาคารอยู่กัน เป็นเขตที่เคยมีชื่อว่า 「山手」( yamanote ) คนที่อยู่แถบนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนโตเกียวดั้งเดิมแต่เป็นคนที่มาจากแต่ละท้อง ถิ่น ภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานในปัจจุบันก็ว่ากันว่าไม่ได้มาจากภาษาโตเกียว แต่เป็นภาษาของคนในแถบ yamanote นี้





แน่นอน ว่าย่านทั้งสามนั้นปกติก็เชื่อมกันด้วยรถไฟสายวงแหวน 「山手線」( yamanote-sen ) ของ JR อยู่แล้ว แต่นับวันคนโตเกียวก็จะเริ่มขยับขยายไปอยู่ทางฝั่งตะวันตกมากขึ้น จึงมีปริมาณการใช้มาก การสร้างรถไฟสายใหม่นี้ทำให้ระบบรถไฟใต้ดินสมบูรณ์มากขึ้น เพราะยังไม่มีรถไฟใต้ดินที่วิ่งเชื่อมเป็นวงแหวนชั้นในเลย จึงเป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยชาวโตเกียวประหยัดค่ารถไฟ ไม่ต้องขึ้นรถไฟหลายต่อได้

เส้นทางรถไฟสายนี้จริงๆ แล้วยังงอกไปทางเหนือของโตเกียวด้วย คือจากอิเคบุคุโระไปถึงเมืองวะโค ( 和光市: wakoushi ) ในจังหวัดไซตามะและปัจจุบันก็เปิดใช้บริการแล้วแต่ใช้ชื่อเป็นสายยูระคุโจ ใหม่ชั่วคราวไปก่อน


นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะเชื่อมรถไฟสายนี้เข้ากับรถไฟเอกชนสาย 「東横線」( touyoko-sen ) ซึ่งวิ่งจากชิบุยะไปเชื่อมกับรถไฟใต้ดินของโยโกฮาม่าในปี 2012 โครงการเหล่านี้กว่าจะคลอดมาให้เห็นในช่วงสองสามปีนี้ แท้จริงแล้วเขาวางโครงการกันมานานเป็นยี่สิบปี ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง ลดขนาดบ้าง รวบโครงการเป็นโครงการเดียวกันบ้าง ขนาดญี่ปุ่นกว่าจะสำเร็จยังนานขนาดนี้ ก็ไม่แปลกอะไรที่ของไทยเราจะต้องรอ รอ รอ กันต่อไป

บทความอื่นๆ